ไม่รู้สิ ผมว่าการวิ่งวันนี้ เราสองคนคือผู้ชนะ
ระหว่างที่เจ้ามะลิ รถเก๋งสีขาวของผมกำลังติดไฟแดง
ตรงแยกปทุมธานีสายใน
ด้วยความสงสัย ผมจึงถามผู้ชายวัยเจ็ดสิบที่นั่งร่วมทางกันมาข้างคนขับ
"พ่อ ทำไมถนนปทุมต้องมีสายนอกสายในด้วยล่ะ"
หลังจากประโยคนี้ เรื่องราวในอดีตของพ่อมากมาย
ก็วนเวียนส่งกลิ่นหอมของวันวานไปทั่วทั้งคันรถ
"ถนนเส้นนี้มีก่อน และตรงนี้เจริญกว่าสายนอก เพราะว่ามันติดแม่น้ำ
สมัยก่อนถ้าจะไปปากเกร็ด ก็ต้องขึ้นเรือแถวนี้ไป"
ผมย้อนนึกตามที่พ่อเล่า
สมัยก่อนบ้านเราใช้การเดินทางทางน้ำ ทางเรือ ค่อนข้างมาก
เพราะฉะนั้น พื้นที่ติดแม่น้ำจึงเจริญกว่า
"หลังจากนั้นค่อยสร้างสายนอกทีหลัง
ก็เลยมีการตั้งชื่อว่าเป็นสายนอกสายใน"
พ่อเล่าให้ฟังต่ออีกนิด
เมื่อไฟเขียวมาถึง ผมจึงเหยียบคันเร่งผ่านแยกสายในไปต่อ
เมื่อเห็นสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวีอยู่ข้างหน้า
ภาพของความทรงจำฉายให้พ่อเห็นทันที ผมจึงได้รับรู้ไปด้วย
"ตอนนั้นพ่อต้องเดินเกือบสิบกิโลมาจากโรงเรียนปทุมวิไล
เค้าเกณฑ์เด็กมารอต้อนรับจอมพลสฤษดิ์ ที่เป็นนายกตอนนั้น
เค้ามาเปิดสะพานตอนปี 2503 พ่ออยู่ประมาณ ม.4
เดินมาเหนื่อยแทบตายแต่ไม่ได้เห็นหน้าเขาหรอก
พ่อมาถึง เขาก็กลับไปแล้ว"
และหลังจากสะพานนี้เปิด พ่อบอกว่า ปทุมธานีถึงได้เจริญขึ้น
เพราะคนจากนนทบุรีและกรุงเทพ สามารถขับรถมาได้
แทนที่จะต้องนั่งเรือมาเหมือนแต่ก่อน
เมื่อถึงตอนนี้ ความรู้สึกตอนที่ผมขับรถข้ามสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่เหมือนนับร้อยนับพันครั้งที่ผมเคยข้ามมาก่อนแม้แต่น้อย
ไม่รู้สิ มันเหมือนเห็นภาพเด็กนักเรียนนับร้อย
มายืนรอต้อนรับจอมพลคนนั้น ยังไงไม่รู้
"พ่อเป็นรุ่นแรกตลอดเลยรู้ไหม
เป็นนักเรียนปทุมวิไลรุ่นแรกที่ย้ายจากวัดสำแลมาที่ปัจจุบัน
และก็เป็นรุ่นแรกที่เค้ายกเลิก ม.7 - 8 แล้วเปลี่ยนมาเป็น มศ. 4 - 5"
บอกตามตรงก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้เลยว่า
ทำไมคนสมัยก่อนชอบบอกว่าเรียนจบ ป.4
ผมสงสัยตลอดว่าทำไมไม่เรียนให้จบ ป.6 ทั้งๆที่ก็อีกแค่สองปี
ผมพึ่งจะรู้ความจริงว่า เพราะสมัยก่อน พอจบป.4 ก็จะขึ้น ม.1 เลย
มันก็เลยเป็นจุดตัด ที่ทำให้หลายคนไม่ได้ไปต่อ
"สมัยก่อนมันไม่ง่ายแบบสมัยนี้หรอกเอก
พ่อเรียนปทุมวิไลก็ได้คะแนนดี 80 กว่าเปอร์เซ็นต์
แต่ปู่กับย่าไม่มีเงิน พอเรียนจบ มศ.5
เพื่อนชวนไปเรียนต่อธรรมศาสตร์ ก็ไม่มีเงิน
ชวนไปสมัครนักเรียนนายสิบที่สามเสน
ค่ารถ ค่าสมัครก็ไม่มี ก็ไปไม่ได้
บางวันปู่กับย่าขายยาได้ไม่ถึงสิบบาท
ลูก 6-7 คนจะไปเลี้ยงยังไงไหว
พ่อต้องออกไปหาปลาตั้งแต่ตีสามกว่าจะหกโมงเช้าก็ได้เป็นสิบโล
ขายโลละบาท ถึงจะมีเงินไปเรียน
เพราะฉะนั้น เรื่องเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ต้องพูดถึงกัน"
เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตของคนสมัยก่อนนั้นไม่ได้ง่ายแบบนี้
สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ต อยากรู้อยากเห็นอะไรก็ได้รู้ อยากสมัครเรียนก็ออนไลน์
แต่สมัยก่อน นอกจากไม่มีเงินยังไม่พอ แถมยังไปไม่ถูกอีก
การต่อสู้เพื่ออนาคตไม่เคยง่ายเท่าปัจจุบันเลย
"พ่อต้องรอจนกว่าอายุจะเกณฑ์ทหารได้ ถึงได้สมัครไปเป็นทหาร
เพราะมันไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต ตอนปีที่สองก็ยังคิด
แล้วถ้าหมดเวลาการเป็นทหาร จะไปทำอะไรกิน ความรู้ก็ไม่มี
พอเขาประกาศว่าจะเกณฑ์คนไปรบที่เวียดนาม
ดีใจจนน้ำตาไหล ตอนนั้นพ่อสอบได้ที่หนึ่งของกองร้อยเลย
เพราะเราอยู่เหล่าแพทย์ หัวดีกว่าเพื่อนอยู่แล้ว"
เราไม่เคยแปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงเรียนเก่ง
เพราะบางอย่างก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของกรรมพันธ์จริงๆ
ครั้งนี้พ่อเล่าเรื่องสอบได้ดีขึ้น เพราะครั้งล่าสุดที่เล่า
พ่อห้ามน้ำตาไม่ให้ซึมออกมาไม่ไหว
"อามึงก็เรียนเก่งนะ ปู่ส่งไปอยู่วัด
พอเรียนจบมัธยม ก็สมัครเข้าเรียนนายสิบเลย
ตอนติดนายร้อยนี่กลับบ้านไปเป็นที่ฮือฮามาก
เพราะเป็นนายร้อยคนแรกของตำบลเลย
คนแถวบ้านยังอิจฉา มาว่าย่า
มึงจนยังเสือกทะเยอทะยานส่งลูกไปเรียนเป็นนายร้อยอีกนะ
พ่อว่าถ้ามันไม่รีบตาย ป่านนี้คงเป็นนายพลไปแล้ว"
พ่อพูดไปยิ้มไป ดวงตาเหม่อลอยมองไปข้างหน้า
ราวกับว่าภาพในวันนั้นฉายชัดอยู่ตรงหน้า
"ที่เอกเรียนเก่ง ก็คงเหมือนอานี่ล่ะ"
และแน่นอน ณ ตอนนี้
ไม่มีอะไรชัดเท่าความภาคภูมิใจในตัวน้องชาย
ที่ฉายชัดอยู่ในแววตาพ่ออีกแล้ว
ผมใกล้จะถึงสวนสมเด็จแล้ว วันนี้ตั้งใจจะมาวิ่งสัก 3 รอบ
ประมาณ 5 กิโลเมตรกว่าๆ นิดหน่อย เหนื่อยกำลังพอดี
และเวลาก็ไม่ใช้มากจนเกินไป
แต่น่าแปลก เมื่อวิ่งจริงๆ มันกลับรู้สึกยาวนานเสียเหลือเกิน
และเรื่องราวในอดีตของพ่อ มันวนฉายในหัวอยู่ตลอดเวลา
มันเหมือนผมวิ่งอยู่ในช่วงเวลานั้น
ช่วงเวลาที่พ่อ อา และคนรุ่นนั้นยังคงต่อสู้กับชีวิต
เมื่อวิ่งเสร็จ ซื้อของกินกลับไปฝากแม่กับแฟนที่ทำกับข้าวอยู่ที่บ้านนิดหน่อย
เราพ่อลูกก็ขับรถกลับบ้าน
ระหว่างนั้น ดูเหมือนหนังเรื่องที่ฉายในหัวผมตอนวิ่ง
ก็คงฉายในหัวของพ่อตอนนั่งรอเหมือนกัน
"เอกโชคดีที่พ่อกับแม่ยังพอมีบ้าง ถ้าปู่กับย่ามีแบบนี้
พ่อคงไม่ต๊อกต๋อยอยู่แบบนี้หรอก
สมัยนั้นเพื่อนไปเรียนต่อกันที่นั่นที่นี่ แต่ใครชวนเราก็ไปไม่ได้
เพราะไม่มีเงิน"
สำหรับผม พ่อไม่เคยต๊อกต๋อยเลย
พ่อทำงาน 7 วัน มาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี
ออกจากบ้านตั้งแต่เจ็ดโมงกลับมาเกือบสามทุ่ม
เราโตมาโดยไม่เคยเห็นพ่อหยุดพักผ่อน
แต่ถึงกระนั้น พ่อก็ไม่เคยเครียด
แถมยังดูเหมือนมีความสุขอยู่ทุกวินาทีของชีวิต
ถ้าคุณรู้จักผม คุณไม่สงสัยแล้วสินะ ว่าทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตเหมือนใคร
"สมัยพ่อเป็นทหารอยู่ที่ กรมยุทธ ที่สามเสน
เดินอยู่ข้างนอก มีไอ้หนุ่มคนนึง หน้าตาดูกลัวๆ
เหมือนมาจากต่างจังหวัด ลงรถไฟมา เดินมาถามพ่อว่า
พี่ครับ ย.ศ. (กรมยุทธศึกษา) ไปทางไหนครับ ผมจะมาสมัครทหาร
พ่อก็เลยชี้ไป แต่ดูจากท่าทาง ไม่น่าจะไปถูก
ก็เลยเดินไปส่ง พาเขาไปเลี้ยงข้าว
เขาไหว้พ่อใหญ่เลย บอกว่าจะไม่ลืมพระคุณพี่เลย
พ่อคิดถึงตัวเองสมัยก่อน นั่งรถจากปทุมไปสนามหลวง
ยังไปไหนไกลจากสนามหลวงไม่ได้เลย
เพราะจะต้องนั่งรถกลับที่นี่ มันกลัวกลับไม่ถูก
คิดแบบนั้นก็เลยเดินไปส่งเขา"
ในระหว่างที่พ่อเล่า ผมกำลังขับรถกลับบ้าน
แต่ตอนนี้ สองข้างทางดูเหมือนย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน
อาจจะเป็นเพราะผมเห็นภาพของเรื่องที่พ่อเล่าล่ะมั้ง
"เอกรู้ไหม แล้วพอเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี
มีนายพันเอกหนุ่มคนนึง เจอพ่อที่โรงพยาบาล
เขาเดินมาถามพ่อว่า พี่จำผมได้หรือเปล่าครับ
พ่อก็ถามว่า ผมจะไปจำผู้พันได้ยังไงล่ะครับ
เขาก็แนะนำตัวว่า ผมไงล่ะครับ เด็กผู้ชายที่ลงรถไฟที่สามเสนวันนั้น
ถ้าวันนั้นพี่ไม่พาผมไป ไม่พาผมกินข้าว ผมคงไม่มีวันนี้
เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหนยังไง
จากนั้นเขาก็นั่งลงไหว้พ่อ คนมองกันเต็มไปหมด
เพราะตอนนั้นพ่อเป็นแค่จ่า แต่เขาเป็นพันเอก"
คำพูดของไอ้หนุ่มคนนั้นที่บอกว่าจะไม่ลืมพระคุณพ่อ
เขาไม่ได้พูดเล่น เขาพูดจริงๆ
วันนี้ตั้งแต่ออกจากบ้าน
รวมทั้งเวลาวิ่งและเวลาเดินทางก็น่าจะประมาณสองชั่วโมง
แต่สำหรับผม มันเหมือนยาวนานเป็นเดือนเป็นปี
ยาวนานพอๆกับที่พ่อต่อสู้มาเพื่อทำให้ผมมีวันนี้
ไม่รู้สิ ผมว่าเราไม่ควรจะลืมอดีต
มันจะแย่จะเลวร้ายยังไง มันก็คืออดีตของเรา
เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากมันได้
เรียนรู้จากอดีตเพื่อปรับปรุงปัจจุบัน
เรียนรู้จากปัจจุบันเพื่อปรับปรุงอนาคต
สมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันง่ายกว่าแต่ก่อน
เทคโนโลยีทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง
ไม่มีเหตุการณ์ที่เด็กหนุ่มบ้านนอกเดินทางไปสมัครเรียนไม่ถูกอีกแล้ว
ถึงกระนั้น ก็ยังมีเด็กหนุ่มมากมายที่ไม่ต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง
มีเด็กหนุ่มมากมายที่ปล่อยให้โชคชะตาเหวี่ยงตัวเองไปมา
และยังไม่เคยเรียนรู้จากอดีตหรือปัจจุบันอะไรเลยด้วย
โชคดีที่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น
เพราะผมรู้ดีว่า ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองคนเดียว
ผมต่อสู้เพื่อเด็กหนุ่มที่เดินเป็นสิบกิโลเพื่อมาต้อนรับจอมพลคนนั้นด้วย
ผมต่อสู้เพื่อเด็กหนุ่มที่หาปลาตั้งแต่ตีสามเพื่อส่งตัวเองเรียนคนนั้นด้วย
ผมต่อสู้เพื่อไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำอดีตของเขาได้
ถึงแม้เส้นชัยของมาราธอนชีวิตครั้งนี้มันยังอีกไกล
แต่เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้ว
ผมจะเป็นคนวิ่งอย่างอดทน วิ่งอย่างไม่ย่อท้อ
ส่วนเขาจะเป็นคนนั่งคอย ดูความสำเร็จของผม
ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากวิ่ง แต่เขาวิ่งมาอย่างยาวนาน
ตอนนี้ถึงเวลาพักของเขาแล้ว
ถึงแม้วันนี้ผมจะวิ่งได้ระยะทางน้อยกว่าคนมากมายในสวนสมเด็จ
แต่ระหว่างขับรถกลับบ้าน
"ไม่รู้สิ ผมว่าการวิ่งวันนี้ เราสองคนคือผู้ชนะ"
ตรงแยกปทุมธานีสายใน
ด้วยความสงสัย ผมจึงถามผู้ชายวัยเจ็ดสิบที่นั่งร่วมทางกันมาข้างคนขับ
"พ่อ ทำไมถนนปทุมต้องมีสายนอกสายในด้วยล่ะ"
หลังจากประโยคนี้ เรื่องราวในอดีตของพ่อมากมาย
ก็วนเวียนส่งกลิ่นหอมของวันวานไปทั่วทั้งคันรถ
"ถนนเส้นนี้มีก่อน และตรงนี้เจริญกว่าสายนอก เพราะว่ามันติดแม่น้ำ
สมัยก่อนถ้าจะไปปากเกร็ด ก็ต้องขึ้นเรือแถวนี้ไป"
ผมย้อนนึกตามที่พ่อเล่า
สมัยก่อนบ้านเราใช้การเดินทางทางน้ำ ทางเรือ ค่อนข้างมาก
เพราะฉะนั้น พื้นที่ติดแม่น้ำจึงเจริญกว่า
"หลังจากนั้นค่อยสร้างสายนอกทีหลัง
ก็เลยมีการตั้งชื่อว่าเป็นสายนอกสายใน"
พ่อเล่าให้ฟังต่ออีกนิด
เมื่อไฟเขียวมาถึง ผมจึงเหยียบคันเร่งผ่านแยกสายในไปต่อ
เมื่อเห็นสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวีอยู่ข้างหน้า
ภาพของความทรงจำฉายให้พ่อเห็นทันที ผมจึงได้รับรู้ไปด้วย
"ตอนนั้นพ่อต้องเดินเกือบสิบกิโลมาจากโรงเรียนปทุมวิไล
เค้าเกณฑ์เด็กมารอต้อนรับจอมพลสฤษดิ์ ที่เป็นนายกตอนนั้น
เค้ามาเปิดสะพานตอนปี 2503 พ่ออยู่ประมาณ ม.4
เดินมาเหนื่อยแทบตายแต่ไม่ได้เห็นหน้าเขาหรอก
พ่อมาถึง เขาก็กลับไปแล้ว"
และหลังจากสะพานนี้เปิด พ่อบอกว่า ปทุมธานีถึงได้เจริญขึ้น
เพราะคนจากนนทบุรีและกรุงเทพ สามารถขับรถมาได้
แทนที่จะต้องนั่งเรือมาเหมือนแต่ก่อน
เมื่อถึงตอนนี้ ความรู้สึกตอนที่ผมขับรถข้ามสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่เหมือนนับร้อยนับพันครั้งที่ผมเคยข้ามมาก่อนแม้แต่น้อย
ไม่รู้สิ มันเหมือนเห็นภาพเด็กนักเรียนนับร้อย
มายืนรอต้อนรับจอมพลคนนั้น ยังไงไม่รู้
"พ่อเป็นรุ่นแรกตลอดเลยรู้ไหม
เป็นนักเรียนปทุมวิไลรุ่นแรกที่ย้ายจากวัดสำแลมาที่ปัจจุบัน
และก็เป็นรุ่นแรกที่เค้ายกเลิก ม.7 - 8 แล้วเปลี่ยนมาเป็น มศ. 4 - 5"
บอกตามตรงก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้เลยว่า
ทำไมคนสมัยก่อนชอบบอกว่าเรียนจบ ป.4
ผมสงสัยตลอดว่าทำไมไม่เรียนให้จบ ป.6 ทั้งๆที่ก็อีกแค่สองปี
ผมพึ่งจะรู้ความจริงว่า เพราะสมัยก่อน พอจบป.4 ก็จะขึ้น ม.1 เลย
มันก็เลยเป็นจุดตัด ที่ทำให้หลายคนไม่ได้ไปต่อ
"สมัยก่อนมันไม่ง่ายแบบสมัยนี้หรอกเอก
พ่อเรียนปทุมวิไลก็ได้คะแนนดี 80 กว่าเปอร์เซ็นต์
แต่ปู่กับย่าไม่มีเงิน พอเรียนจบ มศ.5
เพื่อนชวนไปเรียนต่อธรรมศาสตร์ ก็ไม่มีเงิน
ชวนไปสมัครนักเรียนนายสิบที่สามเสน
ค่ารถ ค่าสมัครก็ไม่มี ก็ไปไม่ได้
บางวันปู่กับย่าขายยาได้ไม่ถึงสิบบาท
ลูก 6-7 คนจะไปเลี้ยงยังไงไหว
พ่อต้องออกไปหาปลาตั้งแต่ตีสามกว่าจะหกโมงเช้าก็ได้เป็นสิบโล
ขายโลละบาท ถึงจะมีเงินไปเรียน
เพราะฉะนั้น เรื่องเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ต้องพูดถึงกัน"
เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตของคนสมัยก่อนนั้นไม่ได้ง่ายแบบนี้
สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ต อยากรู้อยากเห็นอะไรก็ได้รู้ อยากสมัครเรียนก็ออนไลน์
แต่สมัยก่อน นอกจากไม่มีเงินยังไม่พอ แถมยังไปไม่ถูกอีก
การต่อสู้เพื่ออนาคตไม่เคยง่ายเท่าปัจจุบันเลย
"พ่อต้องรอจนกว่าอายุจะเกณฑ์ทหารได้ ถึงได้สมัครไปเป็นทหาร
เพราะมันไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต ตอนปีที่สองก็ยังคิด
แล้วถ้าหมดเวลาการเป็นทหาร จะไปทำอะไรกิน ความรู้ก็ไม่มี
พอเขาประกาศว่าจะเกณฑ์คนไปรบที่เวียดนาม
ดีใจจนน้ำตาไหล ตอนนั้นพ่อสอบได้ที่หนึ่งของกองร้อยเลย
เพราะเราอยู่เหล่าแพทย์ หัวดีกว่าเพื่อนอยู่แล้ว"
เราไม่เคยแปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงเรียนเก่ง
เพราะบางอย่างก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของกรรมพันธ์จริงๆ
ครั้งนี้พ่อเล่าเรื่องสอบได้ดีขึ้น เพราะครั้งล่าสุดที่เล่า
พ่อห้ามน้ำตาไม่ให้ซึมออกมาไม่ไหว
"อามึงก็เรียนเก่งนะ ปู่ส่งไปอยู่วัด
พอเรียนจบมัธยม ก็สมัครเข้าเรียนนายสิบเลย
ตอนติดนายร้อยนี่กลับบ้านไปเป็นที่ฮือฮามาก
เพราะเป็นนายร้อยคนแรกของตำบลเลย
คนแถวบ้านยังอิจฉา มาว่าย่า
มึงจนยังเสือกทะเยอทะยานส่งลูกไปเรียนเป็นนายร้อยอีกนะ
พ่อว่าถ้ามันไม่รีบตาย ป่านนี้คงเป็นนายพลไปแล้ว"
พ่อพูดไปยิ้มไป ดวงตาเหม่อลอยมองไปข้างหน้า
ราวกับว่าภาพในวันนั้นฉายชัดอยู่ตรงหน้า
"ที่เอกเรียนเก่ง ก็คงเหมือนอานี่ล่ะ"
และแน่นอน ณ ตอนนี้
ไม่มีอะไรชัดเท่าความภาคภูมิใจในตัวน้องชาย
ที่ฉายชัดอยู่ในแววตาพ่ออีกแล้ว
ผมใกล้จะถึงสวนสมเด็จแล้ว วันนี้ตั้งใจจะมาวิ่งสัก 3 รอบ
ประมาณ 5 กิโลเมตรกว่าๆ นิดหน่อย เหนื่อยกำลังพอดี
และเวลาก็ไม่ใช้มากจนเกินไป
แต่น่าแปลก เมื่อวิ่งจริงๆ มันกลับรู้สึกยาวนานเสียเหลือเกิน
และเรื่องราวในอดีตของพ่อ มันวนฉายในหัวอยู่ตลอดเวลา
มันเหมือนผมวิ่งอยู่ในช่วงเวลานั้น
ช่วงเวลาที่พ่อ อา และคนรุ่นนั้นยังคงต่อสู้กับชีวิต
เมื่อวิ่งเสร็จ ซื้อของกินกลับไปฝากแม่กับแฟนที่ทำกับข้าวอยู่ที่บ้านนิดหน่อย
เราพ่อลูกก็ขับรถกลับบ้าน
ระหว่างนั้น ดูเหมือนหนังเรื่องที่ฉายในหัวผมตอนวิ่ง
ก็คงฉายในหัวของพ่อตอนนั่งรอเหมือนกัน
"เอกโชคดีที่พ่อกับแม่ยังพอมีบ้าง ถ้าปู่กับย่ามีแบบนี้
พ่อคงไม่ต๊อกต๋อยอยู่แบบนี้หรอก
สมัยนั้นเพื่อนไปเรียนต่อกันที่นั่นที่นี่ แต่ใครชวนเราก็ไปไม่ได้
เพราะไม่มีเงิน"
สำหรับผม พ่อไม่เคยต๊อกต๋อยเลย
พ่อทำงาน 7 วัน มาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี
ออกจากบ้านตั้งแต่เจ็ดโมงกลับมาเกือบสามทุ่ม
เราโตมาโดยไม่เคยเห็นพ่อหยุดพักผ่อน
แต่ถึงกระนั้น พ่อก็ไม่เคยเครียด
แถมยังดูเหมือนมีความสุขอยู่ทุกวินาทีของชีวิต
ถ้าคุณรู้จักผม คุณไม่สงสัยแล้วสินะ ว่าทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตเหมือนใคร
"สมัยพ่อเป็นทหารอยู่ที่ กรมยุทธ ที่สามเสน
เดินอยู่ข้างนอก มีไอ้หนุ่มคนนึง หน้าตาดูกลัวๆ
เหมือนมาจากต่างจังหวัด ลงรถไฟมา เดินมาถามพ่อว่า
พี่ครับ ย.ศ. (กรมยุทธศึกษา) ไปทางไหนครับ ผมจะมาสมัครทหาร
พ่อก็เลยชี้ไป แต่ดูจากท่าทาง ไม่น่าจะไปถูก
ก็เลยเดินไปส่ง พาเขาไปเลี้ยงข้าว
เขาไหว้พ่อใหญ่เลย บอกว่าจะไม่ลืมพระคุณพี่เลย
พ่อคิดถึงตัวเองสมัยก่อน นั่งรถจากปทุมไปสนามหลวง
ยังไปไหนไกลจากสนามหลวงไม่ได้เลย
เพราะจะต้องนั่งรถกลับที่นี่ มันกลัวกลับไม่ถูก
คิดแบบนั้นก็เลยเดินไปส่งเขา"
ในระหว่างที่พ่อเล่า ผมกำลังขับรถกลับบ้าน
แต่ตอนนี้ สองข้างทางดูเหมือนย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน
อาจจะเป็นเพราะผมเห็นภาพของเรื่องที่พ่อเล่าล่ะมั้ง
"เอกรู้ไหม แล้วพอเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี
มีนายพันเอกหนุ่มคนนึง เจอพ่อที่โรงพยาบาล
เขาเดินมาถามพ่อว่า พี่จำผมได้หรือเปล่าครับ
พ่อก็ถามว่า ผมจะไปจำผู้พันได้ยังไงล่ะครับ
เขาก็แนะนำตัวว่า ผมไงล่ะครับ เด็กผู้ชายที่ลงรถไฟที่สามเสนวันนั้น
ถ้าวันนั้นพี่ไม่พาผมไป ไม่พาผมกินข้าว ผมคงไม่มีวันนี้
เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหนยังไง
จากนั้นเขาก็นั่งลงไหว้พ่อ คนมองกันเต็มไปหมด
เพราะตอนนั้นพ่อเป็นแค่จ่า แต่เขาเป็นพันเอก"
คำพูดของไอ้หนุ่มคนนั้นที่บอกว่าจะไม่ลืมพระคุณพ่อ
เขาไม่ได้พูดเล่น เขาพูดจริงๆ
วันนี้ตั้งแต่ออกจากบ้าน
รวมทั้งเวลาวิ่งและเวลาเดินทางก็น่าจะประมาณสองชั่วโมง
แต่สำหรับผม มันเหมือนยาวนานเป็นเดือนเป็นปี
ยาวนานพอๆกับที่พ่อต่อสู้มาเพื่อทำให้ผมมีวันนี้
ไม่รู้สิ ผมว่าเราไม่ควรจะลืมอดีต
มันจะแย่จะเลวร้ายยังไง มันก็คืออดีตของเรา
เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากมันได้
เรียนรู้จากอดีตเพื่อปรับปรุงปัจจุบัน
เรียนรู้จากปัจจุบันเพื่อปรับปรุงอนาคต
สมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันง่ายกว่าแต่ก่อน
เทคโนโลยีทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง
ไม่มีเหตุการณ์ที่เด็กหนุ่มบ้านนอกเดินทางไปสมัครเรียนไม่ถูกอีกแล้ว
ถึงกระนั้น ก็ยังมีเด็กหนุ่มมากมายที่ไม่ต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง
มีเด็กหนุ่มมากมายที่ปล่อยให้โชคชะตาเหวี่ยงตัวเองไปมา
และยังไม่เคยเรียนรู้จากอดีตหรือปัจจุบันอะไรเลยด้วย
โชคดีที่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น
เพราะผมรู้ดีว่า ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองคนเดียว
ผมต่อสู้เพื่อเด็กหนุ่มที่เดินเป็นสิบกิโลเพื่อมาต้อนรับจอมพลคนนั้นด้วย
ผมต่อสู้เพื่อเด็กหนุ่มที่หาปลาตั้งแต่ตีสามเพื่อส่งตัวเองเรียนคนนั้นด้วย
ผมต่อสู้เพื่อไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำอดีตของเขาได้
ถึงแม้เส้นชัยของมาราธอนชีวิตครั้งนี้มันยังอีกไกล
แต่เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้ว
ผมจะเป็นคนวิ่งอย่างอดทน วิ่งอย่างไม่ย่อท้อ
ส่วนเขาจะเป็นคนนั่งคอย ดูความสำเร็จของผม
ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากวิ่ง แต่เขาวิ่งมาอย่างยาวนาน
ตอนนี้ถึงเวลาพักของเขาแล้ว
ถึงแม้วันนี้ผมจะวิ่งได้ระยะทางน้อยกว่าคนมากมายในสวนสมเด็จ
แต่ระหว่างขับรถกลับบ้าน
"ไม่รู้สิ ผมว่าการวิ่งวันนี้ เราสองคนคือผู้ชนะ"